ด้านศาสนา

ดนตรีในด้านศาสนา

ในยุคปัจจุบันแนวคิดทางพุทธศาสนาถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในการรักษาโรคทางจิตตามแบบตะวันตกมีการนำการฝึกสติและการฝึกสมาธิเข้ามาเป็นแนวคิดพื้นฐานในการบำบัดรักษาอาการผิดปกติทางจิตใจในด้านต่าง ๆ เพื่อทางจิตใต้สำนึกของตัวเอง ซึ่งบ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย หรือเกิดเป็นอาการผิดปกติทางจิตใจขึ้นมา ซึ่งจะค่อย ๆ สะสมและเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อยโดยที่เราไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น แนวทางการรักษาโดยเน้นที่การฝึกสตินั้นได้แก่ mindfulness-based stress reduction ของ  Kabatt-Zinn; mindfulness-based cognitve therapy ของ Segal, Wiliams และ Teasdale; dialectical behavioral therapy ของ Linehan

“ดนตรี มีทั้งเสริม และกดทับกิเลส อย่าตกหลุม พรางของมัน แม้แต่การสวดร้อง ท่องมนต์” (ศาสนา ดนตรี กวี ศิลปะ, ท่านพุทธทาสภิกขุ 2547) บทความนี้เป็นบทคัดย่อมาจากวิทยานิพนธ์ Master of Art (Musiktherapie) เรื่อง Achtsamkeit in der Musiktherapie ถ้าจะพูดกันตามความรู้สึกของคนไทยอย่างเรา ๆ แล้วดนตรีกับศาสนาพุทธ ฟังดูอาจจะขัดกันอยู่เสียหน่อย การฟังดนตรีนั้นยังถือเป็นสิ่งที่ต้องงดเว้น และยังถือเป็นข้อห้ามปฏิบัติในศีล 8 และศีล 10 อีกด้วยที่ว่า “นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ – ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากพูด ฟัง ฟ้อนรำ ขับรอ้งและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ และดูการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล“ หากเป็นมุมมองจากทางตะวันตกนั้น ดนตรีเองก็เป็นเสมือนเครื่องมือหนึ่งในทางศาสนาที่มีไว้ เพื่อการเข้าถึงพระเจ้า แต่ในทางศาสนาพุทธนั้น ดนตรีกลับไม่มีบทบาทสำคัญ และไม่ถูกกล่าวถึงมากนักในพุทธประวัติ จะมีก็เพียงการอุปมาเปรียบเปรยเป็นปริศนาธรรมเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างสายพิณกับการปฏิบัติในทางสายกลาง คือไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป

ดนตรีนั้นจะนำมาช่วยในการฝึกสติฝึกสมาธิได้อย่างไร จุดร่วมระหว่างดนตรีกับสตินั้น คือการอยู่กับปัจจุบันขณะ เสียงทุกเสียงที่เราได้ยินนั้น เรียกได้ว่าแทบจะทันทีที่คลื่นเสียงออกจากแหล่งกำเนิดเสียง เกิดขึ้นแล้วก็แทบจะหายไปในทันทีพร้อมกันกับเสียงใหม่ที่เข้ามาแทน เราจึงได้ยินเฉพาะเสียงที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่เสียงที่เกิดขึ้นเมื่อสองนาทีก่อน หรือเสียงที่จะเกิดในอีกหนึ่งนาทีข้างหน้านี้ ในดนตรีนั้นไม่มีทั้งอดีตและอนาคตมีเพียงเสียงเพลงที่เราได้ยินอยู่ ณ ปัจจุบันขณะเท่านั้น ดนตรีจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของการอยู่กับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่การเกิดความรู้สึก หรือความทรงจำในอดีตที่มีความผูกพันกับเพลงนั้น แล้วทำให้เรารู้สึกว่า บทเพลงหรือท่วงทำนองนั้นๆ มันยังคงดังก้องอยู่ในหัวตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ต่างล้วนเกิดจากการปรุงแต่งของจิต และการตีความของสมองของเราเอง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเราฟังเพลง ๆ หนึ่งแล้ว เรารู้สึกติดอยู่ในความทรงจำที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเสียงเพลงนั้นเกิดขึ้นแล้วก็หายไปแทบจะในทันที แต่เป็นจิตของเราเองที่ยังยึดติดอยู่กับอดีตของตัวเองซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเศร้าหรือมีความสุขก็ได้ ด้วยเหตุนี้ การเลือกใช้ดนตรีเพื่อการฝึกสตินั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะดนตรีเองก็เปรียบเสมือนดั่งดาบสองคมที่สามารถทำให้สงบ หรือแม้แต่ทำให้อารมณ์พลุ่งพล่านได้ในเวลาเดียวกัน

จุดประสงค์ของการใช้ดนตรีเพื่อการช่วยฝึกสมาธินั้น เพื่อช่วยผู้ที่มีปัญหาในการนั่งสมาธิในระยะแรก ๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่คิดว่าการนั่งสมาธิเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เสียงดนตรีนั้นเป็นดั่งตัวช่วยผูกจิตและความคิดของผู้ฝึกให้อยู่กับปัจจุบันขณะโดยในขณะฟังจำเป็นต้องฟังแบบมีสติ คือไม่คล้อยตามไปตามอารมณ์ของเพลง ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยพิจารณาอารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้นในขณะที่ฟังเพลงหรือเสียงนั้นๆ โดยที่เพลงหรือเสียงที่ใช้ในการฝึกนั้นควรจะเป็นเพลงที่มีจังหวะไม่ช้ามาก ไม่ควรมีเนื้อร้องในตอนต้น ถ้าเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องก็ควรเป็นเนื้อร้องที่มีคติแง่คิดในทางที่เป็นประโยชน์ไม่ควรเป็นเนื้อร้องที่เกี่ยวกับอารมณ์ทางโลก

นอกจากเพลงแล้วยังสามารถใช้ฝึกโดยใช้เสียงจากธรรมชาติได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ฝึกเป็นสำคัญว่าเอื้ออำนวยที่จะใช้เสียงจากธรรมชาติได้หรือไม่ นอกจากนี้การฝึกสติโดยการใช้ดนตรีช่วยฝึกนั้น เมื่อผู้ฝึกมีความชำนาญในการนั่งสมาธิแล้ว ก็ควรที่จะค่อย ๆ ลดการใช้เสียงในการฝึก เปลี่ยนไปพิจารณาลมหายใจ ร่างกายหรืออารมณ์ต่าง ๆ ตามหลักการฝึกสติในศาสานพุทธต่อไปในฉบับหน้าจะพูดถึงวิธีการฝึกสติและสมาธิโดยใช้ดนตรีว่าในทางปฏิบัตินั้นควรทำอย่างไร รวมไปถึงข้อแนะนำในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงข้อจำกัดในการใช้งานทางคลีนิกกับความแตกต่างในการฝึกตามหลักของชาวพุทธ

ใส่ความเห็น